เมื่อ WHO เร่งกำราบมาลาเรียให้หมดไปจากโลก เกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศไทย

0
705
kinyupen

แม้เวลาผ่านมานานเท่าไร วิวัฒนาการก้าวหน้าเพียงใด มาลาเรียก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของโลกอยู่เสมอ ยังไม่มีวิธีกำจัดให้หมดสิ้นจากโลกนี้ไปเสียที แต่จะมีใครรู้กันหรือไม่ว่า มาลาเรีย มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศไทย

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยว “มาลาเรีย” ซึ่งในบทความก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงที่มาที่ไปของโรคมาลาเรียกันไปบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่าโรคมาลาเรียยังคงแพร่ระบาดอยู่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีกำจัดให้หมดสิ้นจากโลกนี้ไปเสียที ครั้งนี้ กินอยู่เป็น จึงขอหยิบยกเรื่องราวของโรคมาลาเรียมานำเสนออีกครั้ง

แม้เวลาผ่านมานานเท่าไร วิวัฒนาการก้าวหน้าเพียงใด มาลาเรียก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของโลกอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันแม้ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียลดน้อยลง แต่เจ้าเชื้อร้ายชนิดนี้กลับมีวิวัฒนาการที่ทวีความร้ายแรงต่อมนุษย์เพิ่มขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2559 โรคนี้ก็คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเกือบ 500,000 คน และจากสถิติปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยจากโรคมาลาเรียประมาณ 219 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรค คือ ทวีปแอฟริกา และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็นหลักสำคัญที่ WHO แสดงความกังวล ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพและยังพบเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยารักษา ดังนั้นหากไม่สามารถจำกัดการดื้อยาโดยเฉพาะดื้อยากลุ่มอาร์ติมิซินิน ยาสูตรสุดท้ายที่ควบคุมมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาอื่นๆ ได้ ก็ไม่มีหนทางรักษาอีกเลย

“ไวแว๊กซ์” เชื้อร้ายที่ไม่ยอมหมดไป

เชื้อมาลาเรีย ที่กำลังถูกจับตาจากนักวิทยาศาตร์และวงการแพทย์ คือ สายพันธุ์ “ไวแว็กซ์” ที่เป็นเชื้อชนิดเรื้อรังและมีความซับซ้อนมากกว่า “ฟัลซิปารัม” ด้วยคุณสมบัติที่สามารถแฝงตัวในตับ ทำให้ยาอาร์ติมิซินินที่ออกฤทธิ์เฉพาะในกระแสเลือดจึงไม่มีผลต่อไวแว็กซ์ ขณะที่ ยาไพรมาควิน แม้มีผลข้างเคียงสูงต่อผู้ป่วยบางกลุ่มและต้องกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ยังระบาดกินพื้นที่กว้างกว่าสายพันธุ์ “ฟัลซิปารัม” ซึ่งแม้จะร้ายแรงถึงชีวิตแต่ระบาดอยู่ในแอฟริกาเป็นหลัก ขณะที่ “ไวแว็กซ์” จะระบาดได้ทั่วทั้งเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจัดการเบ็ดเสร็จและพบเชื้อดื้อยา

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัว และ ดื้อยาของเชื้อมาลา คือ สภาวะโลกร้อนทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ส่งผลให้ยุงเกิดวิวัฒนาการ และปรับวิธีสะสมเชื้อที่แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็น “แหล่งรังโรค” เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งเข้ามาแบบถูกต้องและลักลอบแบบผิดกฎหมายไม่ได้รับการตรวจโรค ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เชื้อร้ายชนิดนี้ยังคงแพร่กระจายอยู่ตามพื้นที่เขตติดต่อตามแนวชายแดนไทย กัมพูชา พม่า

แม้มียาไพรมาควินที่ใช้กำจัดเชื้อไวแว็กซ์ระยะแฝงตัวในตับ แต่เป็นยาที่อาจมีผลข้างเคียงสูง ต้องกินยาเป็นระยะเวลานาน และยังมีภาวะดื้อยาในผู้ป่วยส่วนหนึ่ง รูปแบบการติดเชื้อซ้ำของเชื้อมาลาเรียชนิดไวแว็กซ์นี้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและการดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศไทย หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต่างเร่งหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะกำจัดเชื้อไวแว็กซ์ให้หมดไปโดยเร็ว

การควบคุม และ กำจัดเชื้อไวแว๊กซ์ถึงจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีความพยายามจากหลายหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าติดตามว่าการกำราบเจ้ามาลาเรียร้ายครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่  คงต้องจับตาดูและติดตามกันต่อไป และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องน่ารู้ดีๆ ในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen