ย้อนตำนานอดีต…ตามรอยเจ้าชายสายน้ำผึ้ง จากอโยธยา สู่ คลองเตย และ พระประแดง

0
700
kinyupen

เมื่อกล่าวถึงเมืองพระประแดง หลายท่านคงทราบดีว่า นี่คืออีกหนึ่งเมืองหน้าด่านเก่าแก่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสร้างขึ้นพร้อมพระราชทานนามว่า นครเขื่อนขันธ์ แต่ทราบหรือไม่ว่า เมืองแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับคลองเตยในอดีต ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงตำนาน “เจ้าชายสายน้ำผึ้ง” เจ้าเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ผู้สร้างตำนานรักไทยจีนกับพระนางสร้อยดอกหมาก นำสู่การสร้างวัดพนัญเชิงอีกด้วย…..

โดยถูกกล่าวถึงไว้ใน ตำนานพงศาวดารเหนือ ซึ่งรวบรวมโดยพระวิเชียรปรีชา(น้อย)  ตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าย้อนไปในสมัยทวารวดี เมื่อหลายพันปีก่อน “เจ้าชายสายน้ำผึ้ง” ทรงคิดจะสร้างเมืองใหม่ จึงยกพลล่องลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อหาทำเลโดยทรงพอใจพื้นที่แถวบางเตย (คลองเตยในปัจจุบัน) แต่มีพระอาจารย์ห้ามเอาไว้ว่าเพราะพื้นที่แห่งนี้น้ำมีความเค็มปนอยู่มากจึงไม่ควรสร้าง ดังนั้นเจ้าชายสายน้ำผึ้งจึงสร้างวัดหน้าพระธาตุถวายพระอาจารย์ แล้วมาสร้าง “วัดมงคลบพิตร” แทน ก่อนสวรรคตในปี จุลศักราช 427

ขณะที่ บางเตย หรือ คลองเตย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้าโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดขวางนั้น ในอดีตก็คือ หนึ่งในคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนถูกถมพื้นที่เป็นถนนเกษมราษฎร์ ซึ่งก็คือถนนที่แยกจากพระราม 4 จนถึงกรมศุลกากรในปัจจุบัน และเมื่อค้นต่อไปก็จะพบว่า “บริเวณคุ้งน้ำฝั่งคลองเตยเคยเป็นที่ตั้งของเมืองพระประแดง” ในอดีตด้วย ซึ่งสันนิษฐานจากเหตุผลดังนี้

1. ในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ ซึ่งเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2233 ในแผนที่ระบุเลยว่า มีองค์พระประแดงอยู่ตำแหน่งคุ้งน้ำฝั่งคลองเตย

2. ในบรรดานิราศของพระยาตรัง, สุนทรภู่ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 จะระบุว่า เมื่อพ้นจากช่องนนทรีจะเข้าสู่บางเตยหรือคลองเตยแล้วจะเข้าสู่เมืองพระประแดงทันที

3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีจดหมายถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกว่า ตนได้มาแถวคลองเตยแล้วเจอศาลพระประแดง ตั้งหัวรูปจระเข้

สำหรับพื้นที่เมืองพระประแดงฝั่งคลองเตยนั้น ในปี พ.ศ.2480 รัฐบาลได้ซื้อพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อสร้างเป็นท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือคลองเตย เพื่อเป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากปากอ่าวขึ้นไป พร้อมสร้างทางรถไฟจากมักกะสันลงมาเพื่อขนถ่ายสินค้าเข้ามายังกรุงเทพฯ พื้นที่แห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนแปลงสภาพจากอดีตไปจนหมดสิ้น

 

ขอบคุณที่มาข้อมูลดีๆ  : รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ “ทอดน่องท่องเที่ยว” Matichon TV

kinyupen