“กาสะลอง – มาลาเรีย” ผ่านมาร้อยปี ทำไมโรคนี้ยังไม่หายไป

0
669
กินอยู่เป็น_กาสะลอง-vs-มาลาเรีย-ผ่านมาร้อยปี-ทำไมโรคนี้ยังไม่หายไป_web
kinyupen

ทราบไหมว่า ?

  • มาลาเรีย 1 ใน 3 โรคเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขลงนามกับ Global Fund เพื่อกำจัดให้หมดไป
  • แม้มียารักษาแต่ถ้ากินไม่ครบสูตร จะกลายพันธุ์สู่ “เชื้อดื้อยา” จนหมดทางรักษา โดยมาลาเรียที่กำจัดยากสุด คือ “ไวแว็กซ์” เพราะฝังในตับได้นานทำให้คนเป็นซ้ำ แพร่กระจายเป็นวงกว้าง
  • ทุกวันนี้แม้คนไทยติดเชื้อมาลาเรียน้อยลง แต่ห้ามวางใจ เพราะการที่อาเซียน Non – Boundary ทำให้มาลาเรียเป็น “โรคไร้พรมแดน” ผลจากการเข้า – ออกของผู้ติดเชื้อเพื่อนบ้านที่เป็น “แหล่งรังโรค”

ต้องบอกว่าช่วงไม่มีใครไม่รู้จักละครที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้อย่าง กลิ่นกาสะลองที่ได้ เจมส์ มาร์ แลญาญ่า อุรัสยา ถ่ายทอดบทบาทของหมอทรัพย์ กาสะลอง ซ้องปีบ จนทำเอาแฟนละครหลายๆ คน ติดละครเรื่องนี้อย่างงอมแงม จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 แทบทุกสัปดาห์

สำหรับในละคร กลิ่นกาสะลอง เราจะเห็นตัวละครเอกอย่างกาสะลอง ป่วยเป็นไข้ชนิดหนึ่ง นั่นคือ ไข้จับสั่น” ฉากนี้ต้องบอกเลยว่านักแสดงสาวญาญ่าสามารถถ่ายทอดบทบาทได้ดีมาก แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะอะไร ทำไมไข้จับสั่นถึงยังกำจัดไม่หมดจากโลกนี้เสียที ซึ่งกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีคำตอบมาให้แล้ว

มาลาเรีย ไข้จับสั่น ไข้ป่าไม่ว่าจะชื่อใดก็ตาม นี่ถือเป็นโรคที่เข่นฆ่ามนุษยชาติมานานหลายร้อยปี โดยมี “ยุงก้นปล่อง” เป็นพาหะสำคัญ ในส่วนประเทศไทยนั้นมาลาเรียก็เคยเป็นปัญหาระดับชาติมานานโดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2530 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด ช่วงที่เรียกว่ายุคตื่นพลอย โดยการระบาดที่พบในไทยส่วนใหญ่พบอยู่ 2 สายพันธุ์

รู้จัก “ฟัลซิปารัม – ไวแว็กซ์” สองเชื้อร้ายจอมดื้อ

  • “ฟัลซิปารัม” อันตรายถึงชีวิตแต่พบเป็นส่วนน้อยในไทย พบมากแถบทวีปแอฟริกา แม้มียารักษาได้แต่การที่ต้องกินติดต่อเป็นเวลานาน และเมื่อกินยาไม่ต่อเนื่องจะทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” โดยที่น่าเป็นห่วงคือเชื้อดื้อยากลุ่มอาร์ติมิซินินและอนุพันธ์อาร์ติมิซินินยาสูตรสุดท้ายที่รักษาได้ผล ทำให้เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาชนิดนี้แล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายด้วยยาสูตรปกติได้ โอกาสเสียชีวิตยิ่งสูงขึ้น
  • “ไวแว็กซ์” กว่าครึ่งของผู้ป่วยในไทยป่วยจากสายพันธุ์ประเภทนี้ ซึ่งแพร่ขยายได้ดีในอาเซียน โดยยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจัดการเบ็ดเสร็จ และยังพบเชื้อดื้อยา แม้ไม่อันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่ด้วยลักษณะพิเศษคือเชื้อแฝงตัวในตับได้นานทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นมาลาเรียซ้ำได้อีกหลายครั้งจากการถูกยุงกัดเพียงครั้งเดียว โดยเด็กเล็กที่เป็นซ้ำๆ จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านระบบประสาทและสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทางความจำและทางภาษาได้ชั่วคราว

ส่วน กาสะลองจะป่วยเป็นมาลาเรียประเภทใดนั้น คาดว่าแนวโน้มน่าจะเทไปทางไวแว็กซ์มากกว่า เพราะไม่ได้อันตรายถึงชีวิต หรือ ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไรก็สามารถส่งมาร่วมแชร์กันได้เลย…..

รู้ไหมทำไมมาลาเรียลดน้อยลง..แต่ไม่เคยหมดไปจากไทยเสียที

ผ่านมาร้อยกว่าปีจากในยุคอดีตของกาสะลอง พบว่าการควบคุมโรคมาลาเรียในไทยอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันอัตราผู้ป่วยลดน้อยลงอยู่ในขั้นที่น่าพึงพอใจ จากอดีตที่เคยพบผู้ป่วยปีละกว่า 150,000 คน เหลือประมาณ 6,000 คน แต่มาลาเรียก็ยังเป็นโรคที่ไม่น่าไว้ใจอยู่ดี เพราะไม่เคยหมดไปจากไทยเสียที และพร้อมกลับมาระบาดทุกเมื่อ โดยทุกวันนี้ยังพบการระบาดตามพื้นที่แนวชายแดนอยู่เสมอ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก

1.การเข้าออกของผู้ติดเชื้อมาลาเรียจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็น “แหล่งรังโรค” มีทั้งแบบเข้ามาอย่างถูกต้องและลักลอบแบบผิดกฎหมายซึ่งไม่ได้รับการตรวจโรค โดยเฉพาะหลังการเปิด AEC ที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก

2.การซื้อขายยาที่ไม่ได้มาตรฐานตามแนวชายแดนทำให้เกิดการดื้อยา ซึ่งน่าสนใจว่าเชื้อมาลาเรียดื้อยาทุกชนิดในโลก ล้วนมีจุดเริ่มต้นที่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ทั้งสิ้น

3.สภาวะโลกร้อนทำให้ยุงมีวิวัฒนาการและปรับวิธีสะสมเชื้อที่แข็งแรงมากขึ้น กระทบต่อการเกิดเชื้อดื้อยาอีกทางหนึ่ง

คงต้องเฝ้าจับตาดูกันต่อไปว่า ปัญหาของโรคมาลาเรียที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะมีหน่วยงานไหนบ้างที่จะช่วยกันควบคุม ดูแล รักษาอย่างไร เพื่อไม่ให้โรคดังกล่าวต้องแพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้าง และตัวเราเองจะรับมืออย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้โรคมาลาเรียคุกคามเข้ามาหาตัวเรา และนี่คือวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต


ล้อมกรอบ

  • แม้ฟังดูเป็นโรคที่ไกลตัวคนเมือง และไม่ค่อยพบการติดเชื้อมาลาเรียในเขตเมืองเท่าไรนักแต่เมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่แหล่งระบาดของมาลาเรีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติที่ชอบการเดินป่า พักแรม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการป้องกัน ลดความเสี่ยงคือสิ่งจำเป็นสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อน และทายากันยุง ทุก 4 ชั่วโมง
  • ยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียไวแว็กซ์ มักดูดคนขณะอยู่นอกบ้าน ดังนั้นการป้องกันด้วยมุ้งเคลือบยาฆ่าแมลงจะไม่ได้ผลมากนัก
  • ยาที่ใช้ฆ่าเชื้อมาลาเรีย “ฟัลซิปารัม” เป็นยาที่ออกฤทธิ์เพื่อฆ่าเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นไม่สามารถใช้กับ “ไวแว็กซ์” เชื้อจะฝังตัวอยู่ในตับ
  • ไม่ควรกินยาป้องกันไข้มาลาเรียดักไว้ก่อน เพราะการกินยาเป็นการช่วยกดอาการจากเชื้อ ไม่ได้ช่วยป้องกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาดื้อยาในระยะยาวด้วย

kinyupen