“มลพิษทางอากาศ” ภัยเงียบคร่าชีวิตคนทุกวัย ไม่เว้น “วัยเด็ก” ตายปีละ 6 แสนราย

0
442
kinyupen

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยรายงานล่าสุดเรื่องมลพิษทางอากาศ พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากอากาศเป็นพิษถึงปีละ 6 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน

ถึงแม้ว่าในหลายๆ ประเทศ จะให้ความสำคัญกับการควบคุมมลพิษมากขึ้น แต่สถานการณ์มลพิษทางอากาศทั่วโลกก็ยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด หลังพบว่เมืองใหญ่ในหลายประเทศ ทั้งจีน อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน รวมถึงแถบแอฟริกา ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ภัยร้ายจากมลพิษทางอากาศอันตรายถึงขั้นทำให้คนเสียชีวิตได้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยการประเมินผลและผลกระทบของมลพิษทั่วโลกว่า “มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการตายของ 7 ล้านคนทั่วโลก” และคนทั่วโลก 9 ใน 10 เสี่ยงได้รับผลกระทบจากมลพิษระดับสูง แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือในจำนวนของผู้เสียชีวิต หนึ่งในนั้มีกลุ่มเด็กจำนวนถึง 600,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจนในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้ 93 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลก คือราว 1,800 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากอากาศที่เป็นพิษ ทำลายความสามารถในการคิดและเรียนรู้เชาว์ปัญญา เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันนับแสนราย

สำหรับมลพิษทางอากาศในขณะนี้ประชากรโลกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ต้องเผชิญกับอากาศเป็นพิษทุกวัน และมลพิษทางอากาศยังเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการตายของผู้ใหญ่ราว 25 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน และมะเร็งปอดด้วย

สำหรับในประเทศไทยบ้านเรา จากข้อมูลอ้างอิงกรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศในประเทศไทยเวลานี้ พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซโอโซน อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เหมาะสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

วิธีป้องกันมลพิษทางอากาศ

วิธีป้องกันจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่หลายคนต้องกระทำเพื่อป้องกันอันตรายจากมลพิษทางอากาศที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เบื้องต้นสามารถกระทำได้ ดังนี้

การป้องกันจากภายนอก
– หลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นเวลานาน
– หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน อาจออกแต่เช้าตรู่หรือรอหลังพระอาทิตย์ตก
– ควรหายใจช้าๆ เมื่ออยู่ภายนอกอาคาร
– หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะทำให้ได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้น
– ใช้หน้ากากอนามัยชนิดมีตัวกรอง เพื่อป้องกันและช่วยกรองสารหรืออนุภาคขนาดเล็กออกจากอากาศที่หายใจ

การป้องกันจากภายใน
– งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สูบบบุหรี่ภายในอาคาร
– หลีกเลี่ยงการใช้พรม เพราะพรมเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น
– ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องลดความชื้น หากภายในอาคารมีความชื้นสูง
– หมั่นทำความสะอาดบ้านหรือที่พักเพื่อลดฝุ่น
– ลดปริมาณการใช้สเปรย์ปรับอากาศ
– ซักเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนทุกสัปดาห์
– ใช้พัดลมระบายอากาศภายในห้องน้ำและห้องครัว
– จัดบ้านหรือที่พักอาศัยให้เป็นระเบียบ อย่าให้รกรุงรัง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฆ่าปีละ 7 ล้านคน “มลพิษ” มหันตภัยเงียบ

kinyupen