ติด “ซีรีย์” สุขใจแต่ไม่สุขกาย

0
938
kinyupen

เชื่อว่ากิจกรรมของใครหลายคนช่วงวันหยุดอยู่บ้าน คงหนีไม่พ้นการนั่งๆ นอนๆ ดูหนัง ดูซีรีย์ แบบมาราธอน และมาพร้อมกับประโยคที่ว่า “อีกตอน เดี๋ยวจะนอนแล้ว” สรุปคือตอนเดียวยาวๆ จนเช้า หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้ ให้คิดไว้เลยว่ากำลังตกอยู่ในอาการ “Binge Watching” หรือการเสพติดรายการทีวีอย่างหนัก เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังรุนแรงมากขึ้นพร้อมกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแอพพลิเคชั่นสำหรับรับชมความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ซีรีย์ รายการโทรทัศน์ ซึ่งดูได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น Netflix , iTunes Store , LIine TV , Viu , WeTV เป็นผลให้เกิดการใช้อินเตอร์เน็ตในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 11.14% จากการเปิดเผยข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือของค่ายโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ของ กสทช. รวมทั้งการสำรวจของ Opensignal บริษัทวิเคราะห์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พบว่าเดือนมีนาคม คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่อสัญญา Wi-Fi ที่บ้านนานขึ้นถึง 41.5% เพื่อใช้ในการทำงานและกิจกรรมอื่นๆ

 

พฤติกรรม “Binge Watching” จะเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกสนุก มีความสุขกับการดูซีรีย์เรื่องโปรดไปได้สัก 3 – 4 ตอน สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขที่ชื่อว่า “โดพามีน” สั่งการให้ร่างกายทำกิจกรรมนั้นต่อไปเรื่อยๆ โดยมีความรู้สึกและกระบวนการทางร่างกายคล้ายกับการเสพสารเสพติดชนิดหนึ่ง ไม่จบไม่เลิก ไม่จบไม่นอน !!!

 

การดูซีรีย์ถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลายเครียดอย่างหนึ่ง ช่วยให้หลบหนีจากโลกแห่งความจริงแบบชั่วครั้งชั่วคราว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่โรคระบาดโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงเช่นนี้ ซึ่งมีข่าวสารต่างๆ ออกมามากมาย ทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม เผยแพร่ในโลกออนไลน์ การเลือกดูซีรี่ย์จึงเป็นเหมือนการสร้างกำแพงป้องกันความรู้สึก ปิดกั้นไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นเข้ามาถึงตัวเรามากเกินไป เพื่อช่วยลดความกลัว ความวิตกกังวล ตื่นตระหนกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่หากดูแบบข้ามวันข้ามคืน ไม่หยุดพัก ก็สามารถส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน

 

กินอยู่เป็น 360 องศา แห่งการใช้ชีวิต อยากให้คุณรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ อันเกิดจากการดูซีรีย์มากเกินไป

 

  1. โรควุ้นในตาเสื่อม

สาเหตุ : ใช้สายตาอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน โฟกัสอยู่ที่จุดๆ เดียวตลอดเวลาส่งผลน้ำในวุ้นตาเสื่อม

อาการ : เวลามองในที่มีแสงสว่างจะเห็นเป็นจุดหรือเส้นคล้ายลูกน้ำลอยไปมา หากปล่อยไว้นานอาจสูญเสียการมองเห็น

  1. โรคต้อหินเฉียบพลัน

สาเหตุ : เพ่งสายตาไปที่หน้าจอนาน ม่านตาขยายมากขึ้นกว่าปกติ ปิดกั้นการไหลออกของน้ำในตา เกิดความดันลูกตาสูง

อาการ : ดวงตามีอาการอ่อนล้า แสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ปวดที่กระบอกตา สายตาพร่ามัว จนกระทั่งมองเห็นไม่ชัด

  1. โรคกระดูกเสื่อม

สาเหตุ : นั่งหรือนอนท่าเดิมเป็นเวลานานส่งผลต่อกระดูกสันหลังทำให้เสื่อมเร็วขึ้น

อาการ : เจ็บและปวดตามแนวกระดูกที่เริ่มเสื่อม ขยับและเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง และมีเสียงดังเมื่อเคลื่อนไหว กรณีที่กระดูกเสื่อมรุนแรงจะเริ่มปวดกระดูก กระดูกผิดรูปจนไม่สามารถเคลื่อนไหว

  1. โรคกระเพาะอาหาร

สาเหตุ : กินอาหารเร่งรีบ ไม่เป็นเวลาหรือเว้นบางมื้อ   ส่งผลกรดในกระเพาะมีมากเกิน

อาการ : จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็นได้ทั้งก่อนหรือกิน และเวลาท้องว่าง อาการปวดจะเป็นๆหายๆ เป็นได้วันละหลายครั้งนานประมาณ 15 – 30 นาที และอาการจะดีขึ้นถ้ากินอาหาร ดื่มนม หรือใช้ยาลดกรด

  1.  โรคอ้วน

สาเหตุ : การนั่งหรือนอน คู่กับกินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และน้ำตาล น้ำอัดลม มากเกิน

อาการ : หายใจติดขัด นอนกรน เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย และอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ

  1. โรคนอนไม่หลับ นอนไม่พอ

สาเหตุ : ดูแบบต่อเนื่องยาวนาน นอนดึกบ่อยๆ ส่งผลต่อการหลั่งสารเคมีในสมอง

อาการ : ไม่สดชื่น ไม่มีสมาธิ สมองเบลอ พูดจาไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำป่วยง่ายกว่าเดิม

  1. ความสัมพันธ์สั่นคลอน

หากคุณเอาเวลาว่างที่มีใช้ไปกับการดูซีรีย์ทั้งวัน ไม่พูดไม่คุยกับใคร เก็บตัวอยู่ในห้องเงียบๆคนเดียว ลืมให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ผลที่ตามมาอาจมากว่าที่คิด นอกจากเสียสุขภาพกายแล้วยังเสียสุขภาพใจด้วย

 

แต่เหล่าแฟนๆ ซี่รี่ย์ ไม่ต้องกังวล เราหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากโรคติดซีรีย์แบบนี้ได้ เพียงกำหนดเวลาว่าในหนึ่งวันจะดูกี่ตอน กี่ชั่วโมงและพยายามทำให้ได้ทุกวัน ท่องไว้ในใจเสมอว่าซีรีย์ไม่หนีไปไหน หยุดไว้ก่อนแล้วค่อยมาเริ่มดูใหม่ในวันต่อไปก็ได้ และถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ติดซีรีย์เข้าขั้น ทยอยดูเรื่องที่ติดให้จบ แล้วอย่างพึ่งเริ่มเลยเรื่องต่อไป พักก่อน !! แล้วหันมาทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง ใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น แม้จะต้องอยู่ในกฎ Social Distancing ก็ยังสามารถติดต่อ พูดคุยได้ และสุดท้ายพยายามคิดถึงผลกระทบต่อสุขภาพให้มาก ห่วงสวยไว้ก่อน นอนดึก อ้วน แก่เร็ว…

-ไม่ได้ห้ามให้ดู แต่ต้องดูอย่างมีสติ –

kinyupen