สังคมยุคนี้ “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

0
1734
kinyupen

เพราะสังคมสมัยนี้มองว่าภาพลักษณ์มีความสำคัญอย่างมาก การใช้ชีวิตประจำวันมีพิธีรีตองมากขึ้น สังคมอยู่ยากขึ้น คนหลายๆ คนจึงมีพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงในด้านที่ดี เดือดร้อนมากแค่ไหนก็ยอม แต่จะไม่ยอมขายขี้หน้าต่อหน้าสาธารณชนโดยเด็ดขาด แบบชนิดที่เรียกได้ว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” จนกลายเป็นว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง วันนี้ กินอยู่เป็น ขอนำเสนอบทความดี ๆ เพื่อให้หลายคนฉุกคิด ก่อนจะจ่าย…

 

เมื่อการเข้าสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องสร้างภาพลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับคนในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความแปลกแยก นี่ล่ะ คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่คนกลุ่มหนึ่งยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองดูดี โดดเด่นในทุกกิจกรรม ทำอย่างไรก็ให้คนรอบข้างรู้สึกประทับใจ มองเราในทางบวกมากกว่าแง่ลบ บางคนยอมถึงขั้นใช้ “เงิน” ในการแก้ปัญหา ยอมเสียเงินจำนวนมากเพราะไม่อยากเสียหน้า ทำอะไรต้องทำให้สุดๆ และดีที่สุด เพื่อให้ตนเองเกิดความสบายใจในการมีหน้ามีตาในสังคมให้ดูดีมากที่สุด จนสุดท้าย “เงิน” กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่คนจะนำมาใช้สำหรับการมีหน้ามีตาในสังคม

 

บางคนมีฐานะทางการเงินที่ดี การเสียเงินจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนเลย แต่สำหรับคนที่ฐานะพอประมาณหรือยากจน การเสียเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกมาซึ่งการมีหน้ามีตาในสังคม ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากมาก เพราะคนเหล่านี้ถึงขั้นที่ยอมกู้เงิน หยิบยืมเงินจากคนรอบข้าง มาใช้ในทางที่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นประโยชน์ สุดท้ายกลายเป็นหนี้สินก้อนโต พร้อมดอกเบี้ยมูลค่ามหาศาลอีกด้วย ลองคิดดูว่าภาพลักษณ์ที่เราได้มา แต่ต้องแลกกับหนี้สินนั้น คุ้มไหมกับการลงทุน

 

จากผลการสำรวจของหอการค้าไทย พบว่า สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 พบจำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 3.16 แสนบาท/ครัวเรือน ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือนับตั้งแต่ทำการสำรวจมาเมี่อปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ที่มีหนี้ฉลี่ย 2.99 แสนบาท/ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 64.7% โดยหนี้ในระบบลดลงจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 74.6% และหนี้นอกระบบ 35.3% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 26.4%

 

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ อาทิ รถยนต์ บ้าน และการลงทุนประกอบกิจการ เช่น ลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น อีกส่วนมาจากการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ครัวเรือน มีการก่อหนี้มาใช้จ่ายในครัวเรือนมากขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

 

การมีหน้ามีตาในสังคมในคนในฐานะปานกลางหรือยากจนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากของพวกเขา เพราะการจะออกงานสังคมทั้งทีอาจจะไม่ต้องลงทุนซื้อชุดที่ราคาแพงๆ ซื้อรถยนต์ เพราะสมัยนี้มีธุรกิจจำพวกให้เช่าชุดราตรี ชุดออกงานต่างๆ เช่ารถยนต์ แม้กระทั่งงานบวชก็ต้องจัดใหญ่ จัดเต็ม มีโต๊ะจีนกินเลี้ยง มีวงดนตรี รวมไปถึงยังมีธุรกิจแปลกใหม่อย่างเช่าสินสอดสำหรับเป็นของประกอบในงานแต่งงาน เพื่อให้ฝ่ายเจ้าภาพต้องเสียหน้าหรือขายขี้หน้าผู้ที่มาร่วมงาน หรือแม้กระทั่งการใช้เงินลงทุนเพื่อพยายามศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

สุดท้าย ใครที่กำลังคิดว่า “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” ขอให้ลองปรับเปลี่ยนความคิดใหม่  เพราะการมีหน้ามีตาในสังคมที่แท้จริง “เงิน” อาจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญทั้งหมด หากคุณใช้เงินในการสร้างภาพลักษณ์และคุณงามความดี สักวันเงินคุณก็จะต้องหมดไป แต่หากสิ่งที่คุณกระทำนั้นมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ คิดดี พูดดี ทำดี สิ่งที่เราได้จะได้รับคือความสุขใจ ต่อให้เราจะไม่มีเงินมากมายที่จะนำเอามาจ่าย ก็ยังคงมีคนรู้จัก และยกย่องคุณอย่างแน่นอน

นี่คือวิถี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen