เปิดบันทึก : หนึ่งวันที่ฉันคุยกับ “แท็กซี่”

0
745
kinyupen

ด้วยความจำเป็นที่ต้องจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายๆ คนเลี่ยงออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น มหาวิทยาลัยปิด สถานบันเทิงปิด มีการ Work for home ทำให้การประกอบอาชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการ แต่ผู้ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำนั้นลำบากยิ่งกว่า

 

“แท็กซี่” อาชีพหนึ่งที่เจอพิษโควิด-19 หนักอยู่พอสมควร เมื่อไร้ผู้คนเก็บตัวอยู่บ้าน ไม่มีนักท่องเที่ยว ยิ่งขาดรายได้

 

เดิมที “แท็กซี่” เป็นประเด็น ถูกตั้งคำถามกันหลายครั้ง ต้องคอยลุ้นทุกคันว่าเราจะได้ไปไหม? ปฏิเสธผู้โดยสารบ้าง เดี๋ยวส่งรถ เดี๋ยวไม่ไป รถติด ขับอ้อมบ้าง โก่งราคานักท่องเที่ยวบ้าง หรือ ชอบสนทนาแต่เรื่องการเมือง ไม่รู้จะคุยกับโชเฟอร์อย่างไรให้เดินทางได้อย่างมีสวัสดิภาพ ทำเอาปวดหัว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาไปเปิดใจโชเฟอร์แท็กซี่กัน หลังจากหนึ่งในทีมงานได้มีโอกาสตั้งคำถามและสนทนาสั้นๆ กับโชเฟอร์ระหว่างเดินทาง

 

Chapter 1  ‘ทำไมแท็กซี่ชอบปฏิเสธผู้โดยสาร

ทางฝั่งแท็กซี่ บอกว่า “มันจำเป็นจริง ๆ ขับไปก็ไม่คุ้ม” แท็กซี่บางรายจึงเลือกคิดราคาเหมากับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะมองว่าคุ้มกว่า อัตราค่าโดยสารของแท็กซี่ไทย ถือว่า “ถูกมาก” และไม่ได้ปรับนานแล้วตั้งแต่ปี 2557 อัตราค่าโดยสารจึงไม่สอดคล้องกับต้นทุนและสภาพการจราจร รถติดได้นาทีละ 2 บาท ส่วนใหญ่หลังจากส่งผู้โดยสารแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ผู้โดยสารทันที ต้องวิ่งรถเปล่า

 

คนขับแท็กซี่ เล่าให้ฟังว่า ต้องแบกรับต้นทุน ทั้งค่าเช่ารถ ค่าผ่อนรถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วเฉลี่ย 1,000-1,500 บาทต่อวัน ส่วนใหญ่ จึง “ปฏิเสธ” เพื่อวิ่งระยะใกล้ เลี่ยงรถติด หวังทำรอบรับผู้โดยสาร

 

Chapter 2 ‘ทำไมแท็กซี่ชอบชวนคุย

โชเฟอร์ ถามเราว่า “คิดว่าอาชีพไหนเหงาที่สุดล่ะ” อันดับแรกๆ คือแท็กซี่นั่นแหล่ะ เพราะอยู่แต่ในรถทั้งวัน ตั้งฟังวิทยุ ฟังเพลงแก้เซ็ง จึงได้รับข่าวสารอยู่พอสมควร ประกอบกับความเหงาก็ทำให้อยากแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นบ้าง ซึ่งผู้โดยสารจึงเป็นทางออกที่สามารถระบายความอัดอั้นในใจได้

 

ฉะนั้นถ้าเป็นประเด็นที่พอคุยได้ ไม่มีอะไรเสียหาย ก็คุยตอบกับโชเฟอร์ไปเถอะ เพราะแท็กซี่เองก็คือคนธรรมดาเหมือนอย่างเรา ๆ ที่มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป และต่างก็มีเรื่องราวชีวิตเช่นกัน ซึ่งประโยคที่โชเฟอร์วัยกลางคน สนทนากับเราท่ามกลางสภาพจราจรที่ติดขัดก็คือ

“พี่รับหนูขึ้นมาคนแรกของวันนี้เลยนะ”

 

ประโยคสั้นแต่สะเทือนใจ ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้บวกกับไวรัสกำลังระบาด ทำให้รายได้เฉลี่ยของโชเฟอร์รายนี้ ไม่ค่อยดีนัก ดาวน์รถเพิ่งหมดหนี้ รถแท็กซี่ที่ใช้หาเลี้ยงชีพก็หมดอายุการใช้งานเสียแล้ว ซึ่งปัจจุบันอายุของรถแท็กซี่มิเตอร์ที่กรมขนส่งทางบกกำหนดตอนนี้คือ 9 ปีเท่านั้น แม้ความสมบูรณ์ของสภาพรถคือปัจจัยหนึ่งของความปลอดภัย แต่เรื่องปากท้องของตนเองก็ยิ่งแย่ ถ้าเลือกเช่าแท็กซี่ก็ต้องจ่ายแพงหนักกว่าเดิม

 

“พี่ยอมตรวจสภาพทุกรถ 3 เดือน ถ้าตรวจสภาพแล้วมันพังหรือไม่ผ่านยังไงค่อยซื้อก็ได้ เพื่อที่ไม่ต้องหาเงินใหม่มาดาวน์ ยอมเปลี่ยนแอร์ยกชุด ยอมเปลี่ยนเบาะทั้งคันเลยก็ได้ แต่อยากให้ขยายอายุรถไปอีกสัก 3 ปีก็ยังดี ไม่ต้องเพิ่มราคามิเตอร์หรอก ถือว่าช่วยประชาชน ขอแค่ยืดอายุแท็กซี่เท่านั้นก็พอใจ”

โชเฟอร์ฝากบอกมา และเล่าให้ฟังอีกว่ายังมีเพื่อน ๆ ชาวแท็กซี่ของเขาอีกหลายคนที่มีแนวคิดนี้เช่นกัน

 

Chapter 3 “ทำไมไม่ขับ Grab หารายได้เพิ่มคู่กันไปล่ะ”

“เคยคิดสิ แต่มือถือพี่ไม่ค่อยดี สงสัยต้องเปลี่ยนมาหัดใช้บ้างแล้ว”

ลุงโชเฟอร์ทิ้งท้ายด้วยเสียงแหบพร่า ก่อนส่งเราถึงจุดหมายพร้อมรอยยิ้ม

 

สังคมแท็กซี่ก็เหมือนทุกสังคมทั่วไปคนขับดีๆ ก็มีอยู่มาก ส่วนที่ทำให้เสียชื่อนั้นก็มีปะปนอยู่เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม หากพวกเรารู้จักเห็นอกเห็นใจกันให้มากขึ้น โลกก็จะน่าอยู่กว่าเดิม­แน่นอน

 

สุดท้ายนี้ เรานำเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับแท็กซี่มาฝากกัน ว่าแท็กซี่ไทยเหมือนหรือต่างกับแท็กซี่ประเทศอื่นๆ อย่างไร

แท็กซี่หลากชาติ หลายสไตล์
ข้อมูลจาก : thairath.co.th
kinyupen