จบอะไรไม่ใช่ประเด็น…ใช้ให้เป็นสำคัญกว่า

0
784
กินอยู่เป็น_จบอะไรไม่ใช่ประเด็น...ใช้ให้เป็นสำคัญกว่า_web
kinyupen

“เรียนจบทำงานไม่ตรงสาย” วลีอมตะที่หลายคนมักคิดว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชีวิตการงานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่เราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนี้ ดังนั้น ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงอยากนำเสนออีกหนึ่งแง่มุมของคนที่เรียนจบทำงานไม่ตรงสาย คุณปิยวัฒน์ ปาณีนิจ หรือ ณัฐ หนุ่มอินดัสเตรียลดีไซน์ ซึ่งผันมาจับงานด้านบริการในตำแหน่งผู้จัดการ NAPLAB สาขาวังหลัง Co Working Space สไตล์วินเทจวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมจากคนย่านฝั่งธน ซึ่งเรียกได้ว่าแม้จะต่างจากสิ่งที่เรียนมาแต่ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

“ไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็พร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะโดดเข้าไป”

นี่คำตอบของคุณณัฐ หลังคุณอาทิตย์ เสมอกาย เจ้าของและผู้ออกแบบ NAPLAB ตั้งคำถามว่า ถ้าให้ทำงานด้านอื่นเพิ่มเติมจากที่เคยทำมาจะได้หรือไม่ โดยพื้นฐานคุณปิยวัฒน์ คือเรียนจบด้าน Industrial Design จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อจบมาก็ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด ก่อนได้รับการชักชวนจากคุณอาทิตย์ให้มาร่วมงานกัน

ตำแหน่งเริ่มต้นคุณณัฐใน NapLab คือ รีเซปชั่น ทิ่สาขาจุฬา โดยต้องจัดการรายละเอียดหน้างานทั้งหมด รวมถึงช่วยงานอื่นๆ ของคุณอาทิตย์ตามโอกาส การที่ต้องเริ่มต้น “งานบริการ” ทำให้แต่ละวันต้องพบเจอลูกค้าจำนวนมาก ที่มาพร้อมความคาดหวังและปัญหาเฉพาะหน้าให้ต้องแก้อยู่เสมอถือเป็นความท้าทายใหม่สำหรับหนุ่ม Industrial Design ที่คุ้นกับการออกแบบที่ต้องการอิสระทางความคิดสูงมาตลอด ซึ่งช่วงแรกอาจยังไม่คุ้นชินแต่ก็ใช้วิธีที่จะค่อยๆ เรียนรู้กระบวนการจากหน้างานจริง จนทำให้รู้ว่า Skill หรือ วิธีทำงานที่ถูกต้องคืออะไร ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ ทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พบว่าการจะทำงานบริการให้ดีได้นั้น หลักสำคัญ คือ ต้องปรับตัวและเรียนรู้วิธีคิดวิธีแก้ปัญหาตลอดเวลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปรับใช้วิชา Design Thinking เข้ากับงานบริการ

“ผมคิดว่างานทุกงานมีความกดดันหมด กล้าพูดว่าแม้ผมจบ Industrial Design แต่การได้มาทำงานบริการ ก็ทำให้รู้ว่ามีสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วนำมาใช้ได้จริง คือ วิธีคิด เพราะสุดท้ายแล้วการ Design ก็คือการแก้ปัญหา การหาทางออก วิธีคิดแบบ Design Thinking นั่นคือ จดปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วจัดลำดับความสำคัญว่าเราจะเริ่มแก้จากไหน แก้แล้วจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นไหม เป็นวิธีการมองแบบสมการง่ายๆ คือ มองปัญหาแล้วเจอวิธีแก้ปัญหา แล้วดูว่าแก้ได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็กลับมาหาทางใหม่ ต้องไม่ Ignore ปัญหา ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ปัญหามันก็จะไม่ไปไหนสักที”

นอกจากนี้อีกสิ่งที่ทำอยู่เสมอ นั่นคือ “การเปิดใจฟัง” เพราะเมื่อเปิดรับฟังทั้งจากพนักงานประจำ พาร์ทไทม์ รวมถึงลูกค้าที่ส่งคอมเมนท์ต่างๆ เข้ามา ก็จะยิ่งทำให้ได้ไอเดียใหม่ให้เลือกเอามาปรับในการทำงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

“เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนเพราะสุดท้ายแล้วโลกมันไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดอยู่กับที่เราก็แย่แล้ว ฉะนั้นต้องเปลี่ยนตลอดเวลา โดยยึดจากลูกค้าเป็นหลัก ผมเชื่อว่าเรามาได้ไกลพอสมควร และยังมีหนทางที่จะไปได้อีกยาวไกล”

มุมมองทั้งหมดของคุณณัฐ ทำให้เห็นได้ว่าการเรียนจบสาขาอะไรนั้นมาไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าสิ่งที่เราทำเรารักหรือเปล่า ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้หรือไม่ นั่นสำคัญกว่าเพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเรียนมาทุกอย่าง มันสามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับว่าคุณมองมุมไหน และการจะประสบความสำเร็จในด้านใดได้หรือไม่นั้น ทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยทัศนคติของตัวเองเป็นสำคัญ

kinyupen