ที่มา “ราชินีแห่งพระเครื่อง” พระนางพญา

0
2024
kinyupen

“มีเรื่องเล่าขาน กันว่าในช่วงต้นที่กรุแตก ผู้หญิงจะขุดเจอมากกว่าผู้ชายด้วยความที่เป็น “พระนางพญา” หากในความเป็นจริง เพราะพระท่านเป็นเนื้อดินเผา และฝังอยู่ในดิน ผู้หญิงซึ่งมีความละเมียดและละเอียดมากกว่า ก็จะขุดเจอมากกว่าผู้ชายที่มักมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ ไปนั่นเอง”

“ด้วยพุทธลักษณะอันงามสง่า อกตั้งนูนเด่น ลำแขนอ่อนช้อยคล้ายอิสสตรี ประกอบพุทธคุณที่เป็นเลิศ “นางพญา” แห่งวัดนางพญา พิษณุโลก จึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ราชินีแห่งพระเครื่อง” และถูกยกย่องเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีที่เซียนพระต่างถวิลหา” วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำทุกท่านมาย้อนรอยประวัติความเป็นมากัน

พระนางพญาเป็นพระพิมพ์ศิลปะสุโขทัย อายุการสร้างประมาณ 400 ปี สันนิษฐานว่า ผู้สร้างคือ พระวิสุทธิกษัตริย์ อัครมเหสีของพระมหาธรรมราชาและพระราชมารดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยทรงสร้าง “พระนางพญา” บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 – 2100  ซึ่งเดิมวัดนางพญา ก็คือวัดราชบูรณะหากต่อมามีการสร้างถนนผ่ากลางจึงกลายเป็น 2 วัด และการที่ได้ชื่อว่า “วัดนางพญา” ส่วนหนึ่งก็เพราะขุดพบพระนางพญานั่นเอง

กรุแตกครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อปี พ.ศ.2444 หอระฆังขององค์พระเจดีย์ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัดนางพญาพังทลายลงมา ทำให้พบพระพิมพ์รูปทรง 3 เหลี่ยมเนื้อดินเผาหลายขนาด ปะปนกับซากเจดีย์และกระจายทั่วบริเวณวัด ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลองและทรงเสด็จไปที่วัดนางพญาด้วย ทางวัดจึงทูลเกล้าถวายฯ พระนางพญาบางส่วนให้พระองค์ท่าน ซึ่งได้ทรงแจกจ่ายให้ข้าราชบริพารและผู้ตามเสด็จ ส่วนพระนางพญาที่เหลือก็ทรงนํากลับพระนครแล้วบรรจุกรุไว้ที่วัดสังข์กัจจายน์และวัดปราสาทบุญญาวาส ทำให้ต่อมาพบพระนางพญาพิษณุโลกที่วัดทั้ง 2 แห่งนี้ด้วย

กรุแตกอีกครั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมาปี พ.ศ.2470 องค์พระเจดีย์ด้านตะวันออกของวัดนางพญาเกิดพังทลายลง พระอธิการถนอมเจ้าอาวาสสมัยนั้นเกณฑ์ให้พระเณร ชาวบ้านช่วยกันขนซากเจดีย์ถมคูน้ำต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2485 ชาวบ้านหลบภัยบริเวณดงกล้วยซึ่งเคยเป็นคูน้ำดังกล่าวได้ขุดพบพระนางพญาอยู่ทั่วบริเวณ

และใน พ.ศ. 2497 ก็เกิดกรุแตกอีกครั้งโดยขุดพบพระพิมพ์นางพญาจำนวนมากบริเวณหน้ากุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งภายหลังมีชาวบ้านมาเก็บไปจนหมดเพราะเห็นเป็นพระเก่า โดยชิ้นส่วนองค์พระที่แตกหักถูกทิ้งเรี่ยราดนั้น วัดนางพญาได้รวบรวมมาบดสร้างพระนางพญาขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2514 เพื่อจัดหาปัจจัยสร้างพระอุโบสถ ภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 สำหรับใช้เป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรม

สอดคล้องบทความหนังสือ “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 2 เรื่อง นางพญาและพระเครื่องสำคัญ” โดย “ตรียัมปวาย” ที่ว่า ‘… มีโอกาสได้พบผู้ใหญ่เลี่ยว ปาลิวณิช นักพระเครื่องอาวุโสของจังหวัดพิษณุโลก ท่านเล่าว่า “กรุพระนางพญา” เป็นพระเจดีย์ที่พังทลายฝังจมดินอยู่บริเวณด้านหน้าของวัด ตรงหน้ากุฏิท่านสมภารถนอม มีการขุดพบพระนางพญา ได้พระเป็นจำนวนมาก ในคราวนั้นปรากฏว่าชาวเมืองพิษณุโลกไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้น พระนางพญาที่ถูกค้นพบจึงถูกเก็บไว้ที่วัดนางพญา และบางส่วนอาจถูกนำไปบรรจุกรุยังที่อื่นๆ อีกด้วย’

3 พิมพ์ 7 แบบคนนิยม

พิมพ์พระของนางพญา มี 3 พิมพ์ คือ หมวดพิมพ์ใหญ่ มี 3 แบบ คือ 1.เข่าโค้ง 2.เข่าตรง 3.อกนูนใหญ่ หมวดพิมพ์เล็ก คือ 1.พิมพ์สังฆาฏิ 2.พิมพ์เทวดา 3.พิมพ์อกนูนเล็ก และ หมวดพิมพ์พิเศษ เนื้อพระเป็นดินผสมว่านเกสรดอกไม้ มีเม็ดแร่กรวดทรายปรากฏ ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหยาบ ส่วนน้อยเป็นเนื้อละเอียดนุ่ม หากองค์ไหนสภาพสมบูรณ์ระดับราคาแตะถึงหลักล้านแน่นอน

อนึ่ง กรุพระนางพญาถูกขุดพบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2532 ณ วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก

kinyupen