ดอกโสน..ขนมริมรั้ว

0
999
kinyupen

ดอกไม้หลายชนิดที่นำมาปลูกประดับตามบ้านเรือนอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ทราบหรือไม่ว่า…บางชนิดยังสามารถดัดแปลงทำเป็นอาหาร หรือ ขนม รับประทานได้ ทั้งยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะดอกไม้แต่ละชนิดมีคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกันออกไป เรียกว่าไม่ได้สวยแต่รูป กินก็ได้ ประโยชน์ก็มี แบบนี้จะไม่ลองหามาทานได้อย่างไร

กินอยู่เป็น 360 องศาของการใช้ชีวิต ขอแนะนำเมนูขนมจากดอกไม้ที่ทำง่ายแต่หาทานยาก อย่าง “ขนมดอกโสน” ขนมไทยพื้นบ้านที่หลายคนอาจไม่รู้จัก…

โสน” ชื่อนี้มีที่มา

โสนเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกมักเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ริมคลอง หนองน้ำ มีดอกเป็นช่อสีเหลือง พร้อมกลิ่นหอมเฉพาะตัวติดจมูก รสชาติออกหวานเล็กน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ลวกจิ้มน้ำพริกใส่แกงส้ม ผัดใส่ไข่ หรือไข่เจียวดอกโสน หรือจะเอามาทำเป็นขนมก็ได้เช่นกัน

อีกทั้งดอกโสนยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีจารึกในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งก่อกรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นราชธานีนั้น พระเจ้าอู่ทองได้ปักหลักสร้างเมืองสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน (ปัจจุบันเรียกว่า บึงพระราม) ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล โทศก จุลศักราช 712 ขณะพระเจ้าอู่ทองได้ทรงก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นทอดพระเนตรเห็นดอกโสนออกดอกเหลืองอร่าม คล้ายทองคำสะพรั่งตา จึงได้มีพระราชดำรัสตั้งดอกโสนให้เป็นดอกไม้ประจำเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

หวานน้อย แต่สรรพคุณมาก

ดอกโสนให้ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกบำรุงสมอง มีเหล็กบำรุงเลือด ให้วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และวิตามินซี และจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทินไกลโคไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ชะลอความเสื่อมของเซลล์ และลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งให้น้อยลงหากได้รับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากสรรพคุณทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้แล้วนั้น ทางแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ด้วยรสจืดเย็นของดอกโสนจะช่วยแก้พิษไข้ได้ ถือว่าเป็นดอกไม้ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย

เล่าถึงที่มาและสรรพคุณของดอกโสนกันพอสมควรแล้ว ชวนมาลงมือทำกันเลยดีกว่า

การเตรียมวัตถุดิบนั้นไม่ใช่เรื่องยาก มีเพียงไม่กี่อย่าง คือ ดอกโสน แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทรายแดง น้ำมะพร้าว และเนื้อมะพร้าวที่ขูดแล้ว พอได้วัตถุดิบครบแล้วก็มาสู่ขั้นตอนการทำ

  1. เตรียมดอกโสนนำดอกโสนที่เด็ดแล้วล้างน้ำ ต้องเบามือสักหน่อยระวังช้ำ เสร็จแล้วก็ผึ่งให้สะเด็ดน้ำในภาชนะที่เตรียมไว้
  2. ร่อนแป้ง: ผสมแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันให้เข้ากันตามอัตราส่วน ที่เหมาะสมใช้กระชอนร่อนแป้งลงในภาชนะที่เตรียมไว้ ระหว่างนั้นนำดอกโสนที่ผึ่งไว้จนแห้งไปผสม และค่อยๆ เติมน้ำมะพร้าวเข้าด้วยเพื่อให้แป้งเกาะตัวติดกับดอกโสน
  3. นึ่ง: นึ่งในหวดที่ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียวประมาณ 10-15 นาที
  4. คลุกน้ำตาล: นำขนมดอกโสนที่นึ่งเสร็จแล้ว มาจัดวางใส่ภาชนะที่สวยงาม เติมน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทรายแดง ตามความชอบใจ ปิดท้ายด้วยเนื้อมะพร้าวที่เตรียมไว้ถือเป็นอันเสร็จ

ความอร่อยจากธรรมชาติใกล้ตัว สามารถรังสรรค์ได้ด้วยสองมือเรา นี่แหละวิถีกินอยู่เป็น 360 องศาของการใช้ชีวิต

 

ขอบคุณที่มาข้อมูล

บทความดอกโสนบ้านนา : นิตยสารหมอชาวบ้าน เขียนโดย รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ

kinyupen