เมื่อกองทัพผู้พิทักษ์จิ๋นซีในแดนปรโลก ยกทัพมาเมืองไทย ทำไมควรไปดู

0
751
kinyupen
  • สุสานจิ๋นซีฮ๋องเต้ เป็น 1 ใน 2 สิ่งมหัศจรรย์ที่จิ๋นซีฮ่องเต้บัญชาให้สร้างขึ้นในยุคสมัยของพระองค์ควบคู่กับกำแพงเมืองจีนอันเกรียงไกร
  • สุสานจิ๋นซีฮ๋องเต้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกลำดับที่ 8 แห่งศตวรรษที่ 20 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2530
  • ทหารดินเผาแต่ละตัวจะมีเพียงตัวเดียวในโลกเท่านั้น เพราะรูปร่าง หน้าตา เครื่องแต่งกาย และอาวุธคู่กายล้วนแตกต่างกันทั้งหมดและมีสีสันเสมือนจริงทุกตัว
  • ตั้งแต่ 15 กันยายน คนไทยสามารถเข้าชมกองทหารจิ๋นซีได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องไปถึงซีอาน

กำเนิดกองทัพผู้พิทักษ์แห่งปรโลก

มหาสุสาน “ฉินสือหวงตี้” หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกแห่งแผ่นดินจีน ณ ตำบลหลินถง เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ถูกก่อสร้างขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ฉิน ตั้งแต่ปี 246 – 208 ก่อนคริสตกาล โดยสุสานถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อส่วนพระองค์ในเรื่องความเป็นอมตะและชีวิตหลังความตาย จึงบัญชาให้เกณฑ์แรงงานจำนวนมากไปก่อสร้างสุสานควบคู่กับพระราชวังเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ชีวิตในปรโลก

ภายในสุสานเป็นการจำลองพระราชวังแห่งปรโลก โดยแบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นในเสมือนจริง ซึ่งนอกจากพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้อันเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญแล้ว โดยรอบยังรายล้อมด้วยหุ่นปั้นเสมือนจริงของข้าราชบริพาร นางสนม นางกำนัล แม่ทัพ นายกอง พลทหาร รถม้า ม้าศึกสรรพอาวุธที่จัดกำลังพลเสมือนจริง ตลอดจนทรัพย์สมบัติต่างๆ รวมกว่า 7,400 ชิ้น ด้วยเชื่อว่าจะตามติดไปรับใช้พระองค์หลังความตาย ทั้งยังก่อสร้างค่ายกลเพื่อพิทักษ์ทรัพย์สมบัติรอบสุสานด้วย

กล่าวกันว่าสุสานแห่งนี้กว้างขวางมากกว่า 57 ตร.กม. ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 38 ปี ใช้แรงงานรวมแล้วกว่า 7 แสนคน

กำเนิดโดยจักรพรรดิ..คืนชีพโดยชาวนา

กาลเวลาผ่านไปสุสานและกองทหารดินเผาค่อยๆ เลือนจากความทรงจำ ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่ได้กลืนกินปกปิดให้เป็นความลับมากกว่า 2,700 ปี “กองทัพทหารดินเผา” ก็ได้ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญโดยชาวนาหมู่บ้านซีหยางขณะกำลังขุดดินทำบ่อน้ำเมื่อปี พ.ศ.2517 อันนำสู่การคืนชีพตำนานสุสานบันลือโลกให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจภายในสุสานนอกจากการออกแบบผังสุสาน ข้าวของเครื่องใช้ สมบัติจักรพรรดิ ก็คือ ทหารดินเผาที่ขุดพบ ซึ่งแต่ละตัวจะมีเพียงตัวเดียวในโลกเท่านั้น เพราะรูปร่าง หน้าตา เครื่องแต่งกายล้วนแตกต่างกันทั้งหมด ทั้งมีสีสันเสมือนจริงทุกตัว ซึ่งจะช่วยให้สามารถย้อนศึกษาถึงรูปร่าง หน้าตา ชาติพันธุ์ของคนจีนโบราณได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการจีนมีการขุดค้นและเปิดให้ผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าชมเพียงแค่ 3 จาก 8 หลุมเท่านั้นซึ่งยังไม่ถึงจุดที่ฝังพระศพจริง เหตุที่ยังไม่ทำการขุดค้นเพิ่มเติม เนื่องเพราะยังหาวิทยาการ เพื่อรักษาสีสันของหุ่นแต่ละตัวจากปฏิกิริยาของอากาศและแสงไม่ได้ ซึ่งยังคงต้องหาทางไขปริศนากันต่อไป

วันนี้คนไทยไม่ต้องบินไปชมไกลถึงซีอาน
ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน – 15 ธันวาคม 2562 กองทหารเหล่านี้จะยกทัพส่วนหนึ่งมาพักที่เมืองไทยเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าชมและศึกษาแบบใกล้ชิดโดยไม่ต้องไปไกลถึงซีอานกับ นิทรรศการ “จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จัดโดย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ภายในงานจะจัดแสดงโบราณวัตถุจาก 2 สุสานดัง คือ สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ และ สุสานราชวงศ์ฮั่น จำนวน 86 รายการ 133 ชิ้น โดยเป็นโบราณวัตถุชั้นเยี่ยมถึง 17  รายการ ซึ่งนิทรรศการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนดังนี้

พื้นที่จัดแสดง สิ่งที่นำมาจัดแสดง
1.   พัฒนาการก่อนการรวมชาติ  เครื่องมือเครื่องใช้ภาชนะสำริด อาวุธ เงินตรา ความก้าวหน้าด้านโลหกรรม สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ซึ่งเป็นยุคก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้ ผนวกแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
2.   จิ๋นซีฮ่องเต้  เรื่องราวความสำเร็จของจิ๋นซีฮ่องเต้ในการผนวกรวมแคว้นทั้ง 7  ให้เป็นปึกแผ่นภายใต้อาณาจักรฉิน พร้อมปฏิรูประบบการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง พัฒนาเทคโนโลยีการสงคราม กำหนดมาตรฐานหน่วยชั่ง ตวง วัด ระบบเงินตรา ภาษาเขียน และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงเชื่อมต่อแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรู จนกลายเป็นกำแพงเมืองจีน
3.   สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้

มหาอาณาจักรใต้พิภพ 

หุ่นดินเผาทหารแม่ทัพ แม่ทัพสวมชุดเกราะ พลธนูสวมชุดเกราะนั่งชันเข่า นักรบสวมชุดเกราะ ม้าประกอบรถม้า สมัยราชวงศ์ฉิน พ.ศ.322 – 337 ซึ่งแสดงถึงความสามารถขั้นสูงของช่างและเทคโนโลยีในสมัยนั้น
4.   สืบสานความรุ่งโรจน์  แสดงการต่อยอดความรู้ มรดกภูมิปัญญาจากราชวงศ์ฉิน มาสู่ราชวงศ์ฮั่น ผ่านความรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สังคม เกษตรกรรม เทคโนโลยีทางการทหาร เศรษฐกิจการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติบนเส้นทางสายไหม จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของงานศิลปกรรมและอารยธรรมจีนโบราณ

 

สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebookกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร :

https://www.facebook.com/280593928674725/posts/2455785931155503?sfns=mo

kinyupen