เอาตัวรอดอย่างมีสติและสตรอง เมื่อเกิด “ไฟไหม้”

0
789
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของสถานการณ์ “ไฟไหม้” เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบ้านของตัวเอง เพราะนั่นหมายถึงสิ่งเลวร้ายที่จะนำมาสู่ความสูญเสียแถมยังลุกลามความเดือดร้อนไปยังบ้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน สิ่งมีค่า หรือแม้กระทั่งชีวิตของมนุษย์

ล่าสุด เหตุการณ์ไฟไหม้เพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นาน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพลิงลุกลามบริเวณชั้น 8 ของอาคาร และกลุ่มควันจำนวนมากกระจายตัวไปบริเวณภายในส่วนของห้างสรรพสินค้าอีกด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความแตกตื่นกับประชาชนอย่างมาก เพราะเหตุการ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าแต่ละอาคารจะมีการวางระบบป้องกันไฟไหม้แล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่ควรประมาท หากใครมีโอกาสติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ จะเห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุไฟไหม้จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มักจะเกิดเหตุในช่วงเวลากลางคืนหรือในอาคารสำนักงานใหญ่ ๆ

เหตุการณ์ไฟไหม้นั้น ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่เราควรมีเอาไว้ คือ สติ สำหรับแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น “กินอยู่เป็น” 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำข้อมูลจากกองปราบปราม เป็น “10 ขั้นตอนวิธีการเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้” มาฝากทุก ๆ คน เพื่อให้ศึกษาเป็นความรู้พื้นฐาน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จะได้รับมือได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พักอาศัยอยู่คอนโด อยู่บนอาคารสูง หรืออยู่ภายในอาคารต่าง ๆ

1. หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในห้อง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ มีสติ อย่าตื่นตะหนกเด็ดขาด

2. หากพบเหตุไฟไหม้ ให้ดึงหรือกดสัญญานแจ้งเหตุไฟไหม้ที่กล่องแดงข้างผนังทางเดินทันที แม้จะพบเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ไม่ควรปล่อยปะละเลย

3. หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในระยะเริ่มต้น พยายามดับเพลิงด้วยตนเองเบื้องต้นด้วยการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารให้ได้เร็วที่สุด อย่ามัวรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

4. หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แล้วไม่สามารถดับเพลิงได้ ให้รีบออกจากห้องและปิดประตูให้สนิท เพื่อชะลอการลุกลามของเพลิง จากนั้นให้รีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด

5. หากต้นเพลิงเกิดจากส่วนอื่นของอาคาร เมื่อทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้ ให้ตั้งสติ มองหาอุปกรณ์ส่องสว่าง เช่น ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ ที่จะช่วยให้สามารถออกจากความมืดภายในอาคารได้

6. หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และความร้อนจากเปลวไฟ

7. ก่อนเปิดประตูให้แตะหรือคลำลูกบิด หากพบว่ามีความร้อนจัด แสดงว่ามีเปลวเพลิงอยู่ด้านนอก อย่าตื่นตระหนกเปิดประตูทันที เพราะเปลวไฟอาจจะพุ่งเข้าหาตัวได้

8. ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะหากติดอยู่ภายในลิฟต์ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตจากควันไฟ ขอแนะนำให้ใช้บันไดหนีไฟ

9. หากติดอยู่ในกลุ่มควันไฟ ให้ก้มตัวลงต่ำและคลานไปกับพื้น เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ ควันไฟเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่าตัว

10. กรณีที่ไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากมีเปลวไฟอยู่บริเวณภายนอกห้อง ให้อยู่ภายในห้องพักและปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู และให้ขอความช่วยเหลือที่บริเวณหน้าต่างหรือระเบียง

 

จำเอาไว้เลยว่า หากสามารถเอาตัวเองออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุได้แล้ว แต่พบว่ายังมีคนยังติดอยู่ในอาคาร อย่ากลับเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงขั้นชีวิตได้ ฉะนั้น ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อทำการช่วยเหลือแทน

สุดท้าย เหตุไฟไหม้เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ขอย้ำและแนะนำให้ทุกคนรู้จักเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุไฟไหม้อยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะได้รับมือกับเหตุการณ์นั้นได้อย่างปลอดภัย และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen