“Social media” ติดแล้ว…มีค่าไม่ต่างจากยาเสพติด

0
649
ยาเสพติดชนิดใหม่ _Socail media_
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากๆ มีค่าไม่ต่างจากการติดยาเสพติด เนื่องจากมีแนวโน้มตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยงอันตราย ไม่สามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองได้ และยังคงทำสิ่งที่ผิดๆ อยู่ต่อไป

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ติดโซเชียลมีเดียมากประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว จนตอนนี้โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนถึงก่อนนอนตอนดึก จากสถิติการใช้งานโซเชียลมีเดีย พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีผู้ใช้งานกว่า 47 ล้านราย ติดอันดับ 9 ของโลก รองลงมาคืออินสตาแกรมมีผู้ใช้งาน 11 ล้านราย และทวิตเตอร์มีผู้ใช้งาน 9 ล้านราย ตามลำดับ

ปัจจัยที่ทำให้โซเชียลมีเดียได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างมาก มีด้วยกันหลายปัจจัย อย่างเช่น ประเทศไทยมีการสื่อสารผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสามารถตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทย จนทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ให้คนที่อยู่ห่างไกลกันสามารถติดต่อกันได้ทุกที่ ทุกเวลา จนทำให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมสงครามโซเชียลมีเดียอย่างระบบ E-Commerce อีกทั้งยังปรับตัวให้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารการตลาดและการขาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ติดโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก

เมื่อผู้คนมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งของการดำเนินชีวิต ในแต่ละวันต้องเลื่อนดูไทม์ไลน์เพื่อติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ความบันเทิง อัพเดทชีวิตประจำวัน รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของเพื่อนสนิทที่ใช้โซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นว่าผู้คนใช้โซเชียลมีเดียมากจนเกินไป และสื่อช่องทางนี้ก็กลายเป็นแหล่งรวมของมิจฉาชีพอีกช่องทางหนึ่ง เนื่องจากผู้คนที่ใช้สื่อชนิดนี้ มักไม่ระมัดระวังตัวเท่าที่ควร เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณด้วยควมรู้เท่าไม่ถึงการ

มีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนและมหาวิทยาลัยโมนาชในประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากๆ จะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายแบบที่พบเห็นกันในผู้ที่ติดยาเสพติด เนื่องจากผู้ที่ติดยาเสพติดมักจะมีปัญหาในเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาด บางครั้งไม่สามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองได้ และยังคงทำสิ่งที่ผิดๆ อยู่ต่อไป

 

ติดโซเชียลฯ มาก เสี่ยงโรคร้าย

การติดโซเชียลมีเดียมากๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงแล้ว ยังส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้อีกด้วย อาทิ

1. โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก : การใช้เฟซบุ๊กมากเกินไปอาจจะเป็นการบั่นทอนความพึงพอใจในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าได้เมื่อเห็นโพสต์ของคนอื่นที่โพสต์สเตตัสหรืออวดรูปภาพการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เช่น ไปเที่ยว หรือการ Cyberbully เป็นต้น

2. โรคละเมอแชท : เป็นอาการติดการส่ง Message เป็นประจำ เมื่อมีสัญญาณเตือน Message เข้ามาในเวลานอน ทำให้เกิดการตอบสนองโดยอัตโนมัติ ลุกขึ้นมาทั้งๆ ที่กึ่งหลับกึ่งตื่นไปตอบ Message นั้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเขียนอะไรไปบ้าง ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าในที่สุด

3. โรควุ้นในตาเสื่อม : การใช้เฟซบุ๊กผ่านช่องทางคอมพิวเตอร์นหรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ทำให้ดวงตาของเราไม่ได้พัก ส่งผลเสียทำให้วุ้นในตาเสื่อมได้ มีอาการเห็นภาพเป็นคราบดำๆ คล้ายกับหยากไย่ มีอาการปวดตา

4. โรคสมาร์ทโฟนเฟซ : เกิดจากการใช้สายตามองหน้าจอเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการเกร็งบริเวณคอเเละเพิ่มเเรงกดดันบริเวณเเก้ม อาการนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อถ่ายภาพตัวเอง จะเห็นการหย่อยคล้อยบนใบหน้าของตัวเอง

5. โรคโนโมโฟเบีย หรือ โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ : โรคนี้เป็นโรคจิตเวชประเภชหนึ่ง เกิดกับคนที่ติดมือถือมากๆ ว่างเมื่อไหร่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนมาเช็คว่ามีคนเข้ามากดไลท์หรือคอมเมนท์หรือไม่ หมั่นโพสต์ข้อความ/ภาพอยู่บ่อยๆ ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรามีเปอร์เซ็นจะเป็นโรคโนโมโฟเบียได้

 

เปลี่ยนพฤติกรรมติดโซเชียลฯ

หากรู้ตัวว่าอยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายติดโซเชียลมีเดียมากจนเกินไป แล้วอยากจะลด ละ เลิก พฤติกรรมการเสพติดโวเชียลมีเดียแบบบ้าคลั่ง ลองใช้วิธีนี้ดู

1. จำกัดเวลาใช้งานว่า ใน 1 วันจะใช้งานโซเชียลมีเดียวันละกี่ชั่วโมง ค่อยๆ ลดลงมาตามความเหมาะสม

2. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกใหม่ๆ ทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง เช่น ไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฯลฯ อาจช่วยให้คุณเพลิดเพลินจนลืมท่องโซเชียลฯ ไปเลยก็ได้

3. อย่าจดจ่อกับโซเชียลมีเดียมากนัก ประมาณว่า หลังโพสต์ข้อความหรือรูปไปแล้ว ก็ต้องเฝ้าตลอดว่าจะมีใครมากดไลท์หรือคอมเมนท์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตตัวเราเอง

 

สุดท้าย โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีประโยชน์และมีโทษควบคู่กันไป หากรู้จักใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธีก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดมันก็จะกลายเป็นโทษที่จะเดือดร้อนทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง จำไว้เสมอว่าโซเชียลมีเดียควรใช้งานอย่างมีสติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโลกไซเบอร์

 

และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen