รู้หรือไม่? ทำไมต้องมี “วันเด็กแห่งชาติ”

0
1092
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของ “วันเด็กแห่งชาติ” อีกหนึ่งวันที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่รู้หรือไม่ “วันเด็กแห่งชาติ” ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมต้องมี “วันเด็กแห่งชาติ” เกิดขึ้นด้วย

เพิ่งผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลแห่งความสุขในปี 2562 ไปหมาด ๆ เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา คราวนี้ก็ถึงคิวของหนูน้อย เด็ก ๆ กันแล้ว แน่นอนนอนทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม จะเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ทุกคนเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อกับ “วันเด็กแห่งชาติ” วันที่ผู้ใหญ่ทุก ๆ คนต้องให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น้อง ๆ หนู ๆ ทุกคนต่างเฝ้ารอก็คือ “คำขวัญวันเด็ก” ซึ่งในแต่ละปี แต่จะรู้หรือไม่ว่า “วันเด็กแห่งชาติ” มีที่มาที่ไปอย่างไร ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมต้องมี “วันเด็กแห่งชาติ” เกิดขึ้นมาด้วย มาร่วมหาคำตอบกัน

 

ถือกำเนิด “วันเด็กแห่งชาติ”

ย้อนไปเมื่อสมัยก่อน ราวปี พ.ศ.2470 ประเทศไทยในสมัยนั้นยังคงอยู่ในยุคที่ยังต้องนุ่งโจงกระเบน กินหมาก พลู ซึ่งค่อนข้างล้าสมัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางคณะราษฎรมองว่า เครื่องแต่งกายของข้าราชการและประชาชนที่แต่งกันอยู่ในเวลานั้นมีความล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงประกาศให้มีการยกเลิกการนุ่งผ้าม่วง โดยให้นุ่งกางเกงขายาวตามแบบฝรั่งแทน และออกประกาศชักชวนให้เลิกรับประทานหมาก เนื่องจากรัฐบาลมองว่าการกินหมากไม่เป็นกิจประเพณีที่เหมาะสม หมากไม่ได้เพิ่มความงามประการใดให้แก่วงหน้า แต่กลับทำให้หน้ากร้านและดูแก่เกินอายุอีกด้วย จึงทำให้เห็นว่าในช่วงนั้นประเทศไทยได้นำเอาวัฒนธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านมาปรับใช้กับบ้านเรา ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ไม่ได้ล้าสมัยอีกต่อไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมา ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับประเพณีและรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือ เทศกาล “วันเด็กแห่งชาติ” ซึ่ง “วันเด็กแห่งชาติ” มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชน จึงทำให้ “วันเด็กแห่งชาติ” ในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 โดยในช่วงแรก ทางราชการได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น “วันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งจัดติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2506 กระทั่งในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2506 ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่สามารถพาเด็ก ๆ รวมถึงบุตรหลานมาร่วมงานวันเด็กแห่งชาติได้ ประกอบกับวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่า ควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการเปลี่ยนแปลงวันจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ใหม่ เพื่อความเกิดความเหมาะสม ทำให้ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประกาศเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” มาเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้งานวันเด็กแห่งชาติเริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุที่กำหนดให้ “วันเด็กแห่งชาติ” ต้องจัดในช่วงวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมนั้น มีที่มาที่ไป เนื่องจากต้องการให้ทุกภาคส่วนของประเทศต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรกๆ จึงกำหนดช่วงเวลาการจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” เอาไว้ในช่วงต้นปี

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเองและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

 

ประเทศเพื่อนบ้านก็มี “วันเด็กแห่งชาติ” ไม่ใช่มีแค่ในไทยเท่านั้น

“วันเด็กแห่งชาติ” ไม่ได้มีแค่เพียงในประเทศไทยบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีวันเด็กแห่งชาติเหมือนกัน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เสนอให้ในทุก ๆ ประเทศมีวันพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองให้แก่เด็ก ๆ ในวันใดวันหนึ่งตามความเหมาะสมของประเทศนั้น ๆ จึงทำให้แต่ละประเทศเกิด “วันเด็ก” ขึ้น

วันเด็กมีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในนครเจนีวา โดยมี International Union for Child เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการเฉลิมฉลองวันเด็ก และส่งผลให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีแนวคิดให้มี “วันเด็กสากล” ขึ้น ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนเองขึ้น  ฉะนั้น ในแต่ละประเทศจะมีการจัดงานวันเด็กในวันเวลาและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

 

ญี่ปุ่น : จะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 เดือนพฤษภาคมของทุกปี มีสัญลักษณ์ประจำวันเด็ก คือ ธงรูปปลาคาร์ฟ มีที่มาจากเทศกาลเด็กผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง จึงใช้ธงรูปปลาคราฟของความเป็นสิริมงคลและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนโบราณ โดยในวันดังกล่าวจะมีการน้ำสมุนไพรชนิดหนึ่งมาต้นแล้วนำมาอาบ เชื่อว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป และวางตุ๊กตาซามูไรตั้งไว้นอกบ้าน นอกจากนี้จะทำอาหารที่ชื่อว่า Chimaki หรือ ขนมบ๊ะจ่างญี่ปุ่นไว้ทานกันด้วย

สหรัฐอเมริกา : ในปี 2543 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประกาศให้จัดวันเด็กขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี กระทั่งต่อมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เป็นทุก ๆ วันอาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายน โดยกิจกรรมในวันเด็กของที่นี่คุณพ่อคุณแม่มักพาเด็ก ๆ ไปงานเทศกาล สวนสนุก หรือเล่นกีฬาต่าง ๆ

นอรเวย์ : งานวันเด็กจะจัดขึ้นทุก ๆ วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ จุดเด่นของงานวันเด็กที่นี่ คือ พาเหรดของเด็ก ๆ หลากหลายรูปแบบ

ตุรกี : งานวันเด็กจะจัดขึ้นวันที่ 27 เมษายนของทุกปี โดยมีกิจกรรมและพาเหรดมากมายจัดขึ้นตามสนามกีฬาทั่วประเทศ บางครั้งมีการเชิญเด็ก ๆ จากทั่วโลกมาร่วมงานและให้พักอาศัยกับครอบครัวชาวตุรกีราว 1 อาทิตย์ด้วย

จีน : จัดขึ้นทุก  ๆ วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี โรงเรียนในประเทศจีนมักจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ เช่น พาไปเข้าค่าย หรือพาไปชมภาพยนตร์ฟรี เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พักผ่อนจากการเรียน

สิงคโปร์ : ชาวสิงคโปร์ฉลองวันเด็กกันในวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคม ในวันนี้เด็ก ๆ ชั้นอนุบาลและประถมไม่ต้องไปโรงเรียน มีงานฉลองและกิจกรรมมากมายจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

บังคลาเทศ : จัดงานวันเด็กในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี จุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ พึงได้รับ วันเด็กของที่นี่ไม่ใช่วันหยุด แต่ก็มีการจัดงานฉลองมากมาย ทั้งจัดการแข่งขันต่าง ๆ มีการจัดแฟชั่นโชว์จากเด็ก ๆ เป็นต้น

โปแลนด์ : วันเด็กในโปแลนด์เรียกกันว่า “Dzien Dziecka” (แปลว่าวันของเด็ก ๆ ) จัดขึ้นวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี พ่อแม่จะมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูก โรงเรียนก็จะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ด้วย

 

นอกจากงานวันเด็กในแต่ละประเทศแล้ว ยังมี “วันเด็กสากล” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20 พฤษจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยสหประชาชาติซึ่งมีที่มาจากมูลนิธิเซฟเดอะชิลเดร์น (The save the children fund) ว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the rights of the child) ซึ่งระบุว่า “เด็กทุกคนในโลกนี้เกิดมาพร้อมสิทธิต่าง ๆ ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์”

 

ย้อนดูคำขวัญ “วันเด็กแห่งชาติ” แต่ละปี

ทุก ๆ ปี น้อง ๆ หนู ๆ ทุกคนนอกจากจะเฝ้ารอกับช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว “คำขวัญวันเด็ก” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น้อง ๆ หนู ๆ ทุกคนต่างเฝ้ารอ และต้องท่องจำให้ได้ เพราะในแต่ละปีคำขวัญวันเด็ก จะไม่เหมือนกัน

สำหรับคำขวัญวันเด็กเป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีจะมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กให้ จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมทุก ๆ ปี สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มาย้อนดูกันว่า คำขวัญวันเด็กตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน มีใจความอย่างไรบ้าง

 

รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พ.ศ. 2499 : จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

 

รัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

พ.ศ. 2502 : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

พ.ศ. 2503 : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

พ.ศ. 2504 : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

พ.ศ. 2505 : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

พ.ศ. 2506 : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

 

รัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร

พ.ศ. 2508 : เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

พ.ศ. 2509 : เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

พ.ศ. 2510 : อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย

พ.ศ. 2511 : ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด และรักชาติยิ่ง

พ.ศ. 2512 : รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

พ.ศ. 2513 : เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

พ.ศ. 2514 : ยามเด็กจงหมั่นเรียนเพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

พ.ศ. 2515 : เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

พ.ศ. 2516 : เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

 

รัฐบาลของ สัญญา ธรรมศักดิ์

พ.ศ. 2517 : สามัคคีคือพลัง

พ.ศ. 2518 : เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

 

รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

พ.ศ. 2519 : เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้

 

รัฐบาลของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร

พ.ศ. 2520 : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

 

รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พ.ศ. 2521 : เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง

พ.ศ. 2522 : เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

พ.ศ. 2523 : อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

 

รัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พ.ศ. 2524 : เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

พ.ศ. 2525 : ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติศาสน์กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ. 2526 : รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม

พ.ศ. 2527 : รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

พ.ศ. 2528 : สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

พ.ศ. 2529 : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2530 : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2531 : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

 

รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

พ.ศ. 2532 : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2533 : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2534 : รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

 

รัฐบาลของ อานันท์ ปันยารชุน

พ.ศ. 2535 : สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

 

รัฐบาลของ ชวน หลีกภัย

พ.ศ. 2536 : ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2537 : ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2538 : สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

 

รัฐบาลของ บรรหาร ศิลปอาชา

พ.ศ. 2539 : มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

 

รัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

พ.ศ. 2540 : รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

 

รัฐบาลของ ชวน หลีกภัย

พ.ศ. 2541 : ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ. 2542 : ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ. 2543 : มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ. 2544 : มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

 

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

พ.ศ. 2545 : เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ. 2546 : เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ. 2547 : รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ. 2548 : เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ. 2549 : อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

 

รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

พ.ศ. 2550 : มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

พ.ศ. 2551 : สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

 

รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พ.ศ. 2552 : ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

พ.ศ. 2553 : คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ. 2554 : รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ

 

รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พ.ศ. 2555 : สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

พ.ศ. 2556 : รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน

พ.ศ. 2557 : กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทย ให้มั่นคง

 

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พ.ศ. 2558 : ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต

พ.ศ. 2559 : เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต

พ.ศ. 2560 : เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง

พ.ศ. 2561 : รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี

พ.ศ. 2562 : เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

 

จะว่าไป “วันเด็กแห่งชาติ” อาจจะไม่ใช่วันที่จะให้ความสำคัญแก่เด็กๆ เพียงหนึ่งวันเท่านั้น แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงความสำคัญของเด็กว่า “เด็กคืออนาคต เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าที่จะต้องพัฒนาชาติต่อไป” วันเด็กแห่งชาติปีนี้ก็ขอให้น้อง ๆ หนู ๆ มีความสุข เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen