เมื่อรอยเท้าและความทรงจำบนโลกออนไลน์ พร้อมย้อนกลับมาทำร้ายคุณตลอดเวลา

0
662
kinyupen

เมื่อท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ เรามักได้ยินวลี “เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า ภาพถ่าย และจะไม่เก็บอะไรกลับมานอกจากความทรงจำ” เพื่อเป็นการเตือนไม่ให้เข้าไปทำร้ายเบียดเบียนธรรมชาติ แต่ทุกครั้งเมื่อเราท่องโลกอินเตอร์เน็ตทราบไหมว่า “รอยเท้าภาพถ่ายและความทรงจำของเรา” ที่เรียกว่า Digital Footprint จะถูกบันทึกไว้และพร้อมย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ตลอดเวลา

Digital Footprint แปลตรงตัวก็คือ รอยเท้าดิจิตอล ซึ่งเว็บไซต์ techterms.com ให้นิยามไว้ว่าเป็น ร่องรอยที่บุคคลทิ้งไว้ขณะท่องอินเทอร์เน็ต โดยจะมี 2 ประเภทหลัก

1.เกิดโดยไม่เจตนา หรือ passive digital footprint โดยผู้ใช้ถูกบันทึกโดยไม่ตั้งใจ เช่น  IP address ที่เซิร์ฟเวอร์บันทึกไว้เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือ ประวัติการค้นหาออนไลน์ที่ถูกบันทึกไว้โดยโปรแกรมค้นหา (search engines)

2.เกิดโดยเจตนา active digital footprint คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้จงใจบันทึกลงในระบบ เช่น อีเมล การเขียนบล็อก การโพสต์ข้อความ สร้างสเตตัส โพสต์รูป การทวิต ฯลฯ และเมื่อถูกเผยแพร่ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำออกจากระบบ แม้ว่าจะลบเนื้อหาที่โพสต์ไปแล้วก็ตาม

นั่นหมายถึงทุกครั้งที่เราสร้างสเตตัส ผ่านข้อความ ภาพถ่าย หรือ แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram พฤติกรรมเหล่านี้จะถูกบันทึกเป็น Digital Footprint ไว้โดยตลอด ทำให้อดีตของคุณไม่หายไปแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม และสามารถถูกติดตามค้นหาได้ตลอด

ดังนั้นเราจึงควรคำนึงไว้เสมอว่า โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นพื้นที่ส่วนตัวแบบ 100% เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่เราโพสต์ได้เสมอ บางครั้งการโพสต์ของเราอาจไปขัดจริตของสังคมที่อาจส่งผลลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันตามมา แม้กระทั่งเรื่องงานเพราะหลายองค์กรเริ่มมีการตรวจสอบ Digital Footprint เพื่อประเมินทัศนคติผู้มาสมัครงานแล้วในปัจจุบัน ดังนั้นก่อนโพสต์ หรือ บันทึกอะไรลงบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ควรไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน เพื่อไม่ให้อดีตย้อนกลับมาทำร้ายเรา

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งประเด็นนี้เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีหลายเคสไม่ว่าจะดารา นักการเมือง หรือ เน็ตไอดอล หลายรายที่ถูก Digital Footprint ทำร้าย ถูกล่าแม่มด ถูกวิพากษ์จากสังคมอย่างหนัก ซึ่งจากการแสดงทัศนคติทางการเมืองในอดีต การ Bully เสียดสีสังคม รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรม

น่าสนใจว่า Digital Footprint ที่กลับมาทำร้ายบุคคลเหล่านั้น บางครั้งเกิดจากบุคคลอื่น เช่น สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไปที่มีสมาร์ทโฟน กล้องวงจรปิดตามหัวมุม หรือ ตรอกซอกซอยต่างๆ ทำให้สังคมมีตาอยู่รอบตัว สามารถบันทึกเหตุการณ์ คำพูด การกระทำของเจ้าตัวก่อนเผยแพร่เป็น “ข่าว” บนโซเชียลมีเดีย ที่มีให้เห็นแทบจะรายวัน หลายครั้งมีน้ำหนักมากพอที่ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือ ถูกจับโกหกได้เวลาออกมาบิดเบือนแก้ตัว

นี่อาจเป็นมุมที่ดีของการมี Digital Footprint เพราะคอยเตือนให้คนรับผิดชอบต่อคำพูด การกระทำของตนเองมากขึ้น หรือ ผู้ที่ยังชินกับกระบวนการรูปแบบเก่าๆ อาทิ ข่มขู่ อวดเบ่ง บิดเบือน เลี่ยงบาลี พูดจาส่อเสียด เพื่อหวังผลบางประการ โดยเฉพาะด้านการเมืองก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน เพราะทุกการกระทำจะถูกบันทึกไปตลอด โดยคำพูด หรือ การกระทำเหล่านั้นก็พร้อมจะถูกคนที่เห็นต่างขุดขึ้นมาเพื่อรุมถล่มให้กลายเป็นจำเลยสังคมได้เสมอ และบางครั้งก็ลุกลามเกินกว่าที่คิด ดังหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

kinyupen