พึ่งพา “เทคโนโลยี” มากไป เสี่ยง “สมองเสื่อม”

0
1004
กินอยู่เป็น_พึ่งพา-เทคโนโลยี-มากไป-เสี่ยง-สมองเสื่อม_web
kinyupen

รู้หรือไม่? การใช้เทคโนโลยีเป็นประจำหรือบ่อยมากจนเกินไปอาจเป็นผลเสียที่จะสะท้อนมาสู่ตัวเราเอง โดยเฉพาะส่งผลต่อระบบร่างกายและสมอง เกิดสภาวะที่เรียกว่า “สมองเป็นสนิม” และเสี่ยงเกิดภาวะ “สมองเสื่อม”

 กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “เทคโนโลยี” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะการหันมาใช้สมาร์ทโฟนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีฟังก์ชั่นมากมาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน การใช้เทคโนโลยีเป็นประจำหรือบ่อยมากจนเกินไปก็อาจเป็นผลเสียที่จะสะท้อนมาสู่ตัวเราเอง โดยเฉพาะส่งผลต่อระบบร่างกายและสมอง

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ่อย ๆ อาจส่งผลให้การใช้สมองเพื่อคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลงเรื่อย ๆ และเกิดสภาวะที่เรียกว่า สมองเป็นสนิมอย่างไม่รู้ตัวได้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วขึ้น

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า การใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเจริญก้าวหน้าและใช้ประโยชน์หลายสิ่งในชิ้นเดียว โดยเฉพาะยุค 5G ที่กระแสกำลังมาแรง ซึ่งจะมีความก้าวหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น เมืองอัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ การใช้ระบบจีพีเอส (GPS) ช่วยนำทาง รวมทั้งการใช้เครื่องคิดเลข การบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ เป็นต้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้คนหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ปัญหา “โรคสมองเสื่อม” ถือเป็นภัยเงียบทางกายที่มาพร้อมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ย้อนกลับไปดูผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. เมื่อปี 2557 พบว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ สมองสูญเสียความสามารถในการจำ การคิด สติปัญญา อารมณ์ มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน ทำงานหรือเข้าสังคมได้

สาเหตุเกิดจากหลายประการ แต่ที่พบบ่อยและไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาชะลอไม่ให้เสื่อมเพิ่ม อันดับ 1 คือ เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ รองลงมาเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหลังป่วยประมาณ 8 ปี

ฉะนั้น หากใครที่ไม่อยากตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ โดยมีข้อแนะนำ 4 ประการ ดังนี้

1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ : ควรออกกำลังกายแบบมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไป/ครั้ง อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดี กระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง และปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยสลายความเครียดไปในตัว ทำให้อารมณ์แจ่มใส

2. ฝึกลับคมสมอง : หมั่นฝึกกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เพื่อเพิ่มความสามารถการทำงานให้สมอง เช่น การคิดเลข ฝึกการจำเพลงโดยการฟัง ฝึกการสวดมนต์ เป็นต้น รวมทั้งการฝึกสมองโดยการใช้เกมต่าง ๆ ซึ่งช่วยฝึกกระตุ้นสมองได้ดี และมีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย

3. หากิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ : ยกตัวอย่าง ใช้มือข้างไม่ถนัดจับช้อนทานข้าว จับปากกาหรือดินสอเขียนหนังสือ หรือจับแปรงสีฟันแปรงฟัน ขับรถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง เป็นต้น

4. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม : กรณีที่เป็นผู้สูงอายุ ควรเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ไม่ควรอยู่จับเจ่าที่บ้านคนเดียว เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีการพบปะพูดคุยกัน การได้สังสรรค์กับผู้อื่น จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีขึ้น

สุดท้าย เทคโนโลยีล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกต้องหรือชาญฉลาดหรือไม่ หากเราใช้ในทางที่ถูกต้อง เทคโนโลยีก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเรา แต่ถ้าเรานำมาใช้ในทางที่ผิด เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นโทษทำร้ายร่างกายของเรา เรียกได้ว่า เทคโนโลยี เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” เลยทีเดียว และนี่คือวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

 

kinyupen